กิน-พักโฮมสเตย์

โฮมสเตย์ สิ่งที่ควรรู้ ความเป็นมาของโฮมสเตย์
ยุคเริ่มต้น ( ปี 2503-2525 )
การท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์กระจายอยู่ในกลุ่มนิสิต นักศึกษา กลุ่มออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท ต้องเรียนรู้วิถีชีวิต รับทราบปัญหาในชนบท เพื่อนำมาพัฒนาสังคมตามอุดมคติ

การท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์กระจายไปในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยม ทัวร์ป่า โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือ ของประเทศไทย นักท่องเที่ยว จะพักตามบ้านชาวเขา โดยจุดพักนั้นจะขึ้นอยู่กับเส้นทางการเดินป่า

ยุคกลาง ( ปี 2526 – 2536)
กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมทัวร์ป่า เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น การพักค้างในรูปแบบของโฮมสเตย์ ได้รับการพัฒนารูปแบบและกิจกรรม โดยกระจายไปยังหมู่บ้านชาวเขา ที่กว้างขวางมากขึ้น อย่างไรก็ตามในระยะนี้การท่องเที่ยวในรูปแบบทัวร์ป่าที่มีการจัดการในรูปแบบ โฮมสเตย์เริ่มสร้างปัญหาต่างๆขึ้นในสังคม อาทิ ปัญหายาเสพติด ปัญหาโสเภณี ปัญหาการฆ่าชิงทรัพย์

ยุคตั้งแต่ปี 2537 – ปัจจุบัน
ยุคนี้เป็นการเน้นกระแส การพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจะพบได้ว่า การท่องเที่ยว จะมีแนวโน้มที่ จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ในระยะประมาณปี 2537-2539 ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย เริ่มมีการท่องเที่ยวในรูปแบบ โฮมสเตย์ โดยกลุ่มนำร่องคือ กลุ่มที่เป็นนักกิจกรรมสังคมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เท่าที่สืบค้นพบว่าพื้นที่ที่ดำเนินการเรื่องโฮมสเตย์ก็จะเป็นพื้นที่ที่ องค์กรพัฒนาเอกชนไทย เข้าไปดำเนินการ เช่น เกาะยาว จ.พังงา ( กลุ่มประมงชายฝั่ง/อวนลาก อวนรุน) หลังจากพื้นที่เกาะยาว จ.พังงา ได้มีพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น อาทิ หมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช บ้านแม่ทา จ.เชียงใหม่ (เกษตรทางเลือก)บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม (เกษตรยั่งยืน)

ปี 2539 เป็นต้นมา ได้มีการเคลื่อนไหวขึ้นในกลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ด้านการท่องเที่ยว โดยนำเสนอรูปแบบ การท่องเที่ยวผสมผสานระหว่าง Adventure Ecotourism และโฮมสเตย์

จาก การที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2541-2542 เป็นปีท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) ทุกหน่วยงานของภาครัฐมีนโยบาย สนับสนุนกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการจัดการท่องเที่ยวในแหล่งชุมชน และขยายกิจกรรมโฮมสเตย์เพิ่มมากขึ้น เช่น หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยบ้านโคกโก่ง อ.กุสินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์  บ้านทรงไทยที่ตำบลปลายโพงพาง อ.อัมพวา  จ.สมุทรสงคราม รวมทั้งพื้นที่ชนกลุ่มน้อย หมู่บ้านชาวเขาหลายพื้นที่ก็มีการสนับสนุนการจัดกิจกรรมโฮมสเตย์ด้วยเช่นกัน

ใน ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกลุ่มชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรม การท่องเที่ยวในแหล่งชุมชน เพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม หัตถกรรมของท้องถิ่น โดยมีโฮมสเตย์ที่มีความหมายมากกว่าการเป็นที่พัก เนื่องจากเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง ซึ่งยึดเอารูปแบบ ที่พักเป็นศูนย์กลางและจัดให้มีกิจกรรมในด้านต่างๆ ตามความต้องการของ นักท่องเที่ยว อย่างหนึ่ง ซึ่งยึดเอารูปแบบที่พักเป็นศูนย์กลาง และจัดให้มีกิจกรรมในด้านต่างๆ ตามความต้องการของนักท่องเที่ยว รวมอยู่ด้วย

กรอบดัชนีชี้วัดคุณภาพมาตรฐานโฮมสเตย์
 มาตรฐานที่ 1  ด้านที่พัก
1.1  ลักษณะบ้านพักที่เป็นสัดส่วน
– เป็นบ้านของเจ้าของที่แบ่งปันที่นอน หรือห้องนอน อย่างเป็นสัดส่วน หรืออาจปรับปรุง ต่อเติมที่พัก ที่ติดกับบ้านเดิมเพื่อใช้เป็นที่นอนหรือห้องนอนเป็นสัดส่วน
1.2  ที่พักที่นอนสะอาด และสบาย
– มีที่นอนสำหรับนักท่องเที่ยวอาจเป็นเตียง ฟูก หรือเสื่อ และมีมุ้ง หรือมุ้งลวดเพื่อป้องกันยุงและแมลง
– มีเครื่องนอน อุปกรณ์ที่ใช้นอน ผ้าปู หมอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม และได้รับการทำความสะอาดทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนนักท่องเที่ยวและเปลี่ยน เครื่องนอนตามความเหมาะสมในกรณีที่นักท่องเที่ยวพักหลายวัน
– มีราวตากผ้าหรือที่เก็บเสื้อผ้า
1.3  ห้องอาบน้ำและห้องส้วมที่สะอาดมิดชิด
– มีความปลอดภัย มีที่ล็อคประตูอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี มีความมิดชิด
– มีขนาดของห้องน้ำที่เหมาะสม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
– มีการแยกขันสำหรับตักอาบน้ำ
– น้ำที่ใช้มีความสะอาด อาจเป็นประปาหมู่บ้าน ประปาภูเขา หรือน้ำดิบที่ปล่อยไว้ระยะหนึ่งและแกว่งสารส้ม
– มีถังขยะในห้องน้ำ
1.4  มุมพักผ่อนภายในบ้านหรือในชุมชน
– มีมุมพักผ่อน ที่สงบ สบายภายในบ้านหรือบริเวณโดยรอบที่สามารถนั่ง นอนและมีบรรยากาศผ่อนคลาย เช่น ลานบ้าน ใต้ต้นไม้ ศาลาหน้าบ้าน
– มีการดูแลบริเวณรอบบ้าน เช่น สวนครัว ต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ร่องน้ำ ให้สะอาดปราศจากขยะ

มาตรฐานที่ 2  ด้านอาหารและโภชนาการ
2.1  ชนิดของอาหาร และวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร
– มีปริมาณ และประเภทอาหารที่เหมาะสม
– ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ไม่ซื้ออาหารหรือกับข้าวถุง
– มีการปรุงอาหารอย่างถูกสุขอนามัย
2.2  น้ำดื่มที่สะอาด
– มีที่เก็บน้ำ / ภาชนะเก็บน้ำที่สะอาดไม่มีตะกอน มีฝาปิดมิดชิด
– มีน้ำดื่มที่สะอาด ผ่านกระบวนการทำความสะอาด
2.3  ภาชนะทีบรรจุอาหารที่สะอาด
– มีภาชนะที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น ถ้วย ชาม จาน ช้อน ช้อนกลาง ทัพพี โถข้าวที่สะอาด ไม่มีคราบ และกลิ่นคาว กลิ่นอับ
2.4  ห้องครัว และอุปกรณ์ที่ใช้ในครัว มีความสะอาด
– ครัวอาจอยู่ในบ้าน หรือแยกจากตัวบ้านก็ได้ และมีการดูแลความสะอาดอยู่เสมอ
– มีอุปกรณ์การเก็บ เครื่องปรุง วัตถุดิบ ที่สะอาดสามารถป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรก เช่น มีที่เก็บมิดชิด ที่แขวน หรือมีฝาชีครอบ หรือคลุมผ้าสะอาด
– มีการจัดการขยะที่ถูกสุขอนามัย

มาตรฐานที่ 3  ด้านความปลอดภัย
3.1  การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
– มีแนวทางปฏิบัติเพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อนักท่องเที่ยวเกิดเจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุ
– มียาสามัญประจำบ้าน ที่อยู่ในสภาพใช้ได้ทันที (ยังไม่หมดอายุ)
– เจ้าของบ้านควรซักถามถึงโรคประจำตัวหรือบุคคลที่ติดต่อได้ทันทีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับนักท่องเที่ยว
3.2  การจัดระบบดูแลความปลอดภัย
– มีการแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันรับทราบ ขณะมีนักท่องเที่ยวในบ้าน เพื่อขอความร่วมมือในการดูแลรักษาความสงบความปลอดภัย
– มีการจัดเวรยามดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น รถยนต์
– เมื่อมีเหตุร้ายต้องมีเครื่องมือสื่อสารติดต่อกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงได้

มาตรฐานที่ 4  ด้านอัธยาศัยไมตรีของเจ้าของบ้านและสมาชิกในครัวเรือน
4.1  การต้อนรับและการสร้างความคุ้นเคย
– มีการแนะนำนักท่องเที่ยวกับสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่อยู่ในขณะนั้น เพื่อรู้จักและเรียนรู้วิถีชีวิตของเจ้าของบ้านผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น เก็บผักสวนครัวร่วมกัน ทำกับข้าวร่วมกัน รับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น
4.2  การสร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิถีชีวิตของชุมชน
– เจ้าของบ้านมีการแลกเปลี่ยนให้ข้อมูล อาจเป็นเอกสารภาพถ่าย หรือการพูดคุยในเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมในชุมชนอย่างเหมาะสม
– เจ้าของบ้านเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตของตนเอง เช่น ไปดูไร่นา ออกทะเล เก็บใบชา ทอผ้า จักสาน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิต

มาตรฐานที่ 5  ด้านรายการนำเที่ยว
5.1  มีรายการนำเที่ยวที่ชัดเจนสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องผ่านการยอมรับจากชุมชน
– มีการวางแผนโปรแกรมการท่องเที่ยวร่วมกันของชุมชนและกลุ่มโฮมสเตย์ เพื่อการกระจายรายได้ให้เกิดขึ้นในแต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละกลุ่มกิจกรรม
– มีโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เผยแพร่สู่สาธารณะและนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชุมชน
5.2  ข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยว
– มีข้อมูลรายละเอียดกิจกรรมในโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลายแตกต่างกันตาม ภูมิศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลือกได้
5.3  เจ้าของบ้านเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น หรือประสานงานให้มัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำเที่ยว
– กลุ่มหรือเจ้าของบ้านเป็นผู้นำเที่ยวเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม การแสดง ความเชื่อ ค่านิยมภายในชุมชนแก่นักท่องเที่ยว
– มีการจัดทำสื่อ เช่น สิ่งพิมพ์ รูปถ่าย ภาพวาด เพื่อการเรียนรู้ของนักท่องเที่ยว

มาตรฐานที่ 6  ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6.1  ชุมชนมีแหล่งท่องเที่ยวภายในชุมชน หรือแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง
– มีแหล่งดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวซึ่งอาจเป็นแหล่งธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น วัดเจดีย์ เป็นต้น
หรือใช้แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการท่องเที่ยว
6.2   การดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยว
– ชุมชนมีกฎ กติกา การใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ชัดเจน เพื่อให้การใช้ประโยชน์เป็นไปอย่างยั่งยืน เช่น ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ชุมชนรองรับได้ การไม่เก็บพันธุ์พืชออกจากป่า เป็นต้น
– มีกิจกรรมที่สัมพันธ์กับงานการฟื้นฟูอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวในหลากหลายรูป แบบ เช่น การปลูกป่า การจัดค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับเยาวชน
6.3  แผนงานหรือมาตรการลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวและลดสภาวะโลกร้อน
– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและกลุ่มโฮมสเตย์มีแผนงาน มาตรการ และแนวทางปฏิบัติในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เช่น การแยกขยะ ไม่เผาขยะ
6.4  มีกิจกรรมในการลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และลดสภาวะโลกร้อน
– เน้นใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ห่อข้าวด้วยวัสดุที่มาจากธรรมชาติ
– มีกิจกรรมที่ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เช่น ใช้จักรยานแทนการใช้รถ ใช้เรือพายแทนการใช้เครื่องยนต์ หรือการใช้หลอดประหยัดไฟในครัวเรือน

มาตรฐานที่ 7  ด้านวัฒนธรรม
7.1  การดำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
– มีบ้านเก่า หรือบ้านที่แสดงถึงวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อสร้างความสนใจแก่นักท่องเที่ยว
– มีการรวบรวมองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อนำสู่การเผยแพร่ที่ถูกต้องแก่นักท่องเที่ยว
– ชุมชนและโรงเรียนมีแผนงานฟื้นฟู อนุรักษ์ และถ่ายทอดวัฒนธรรม ศิลปะ และการละเล่นพื้นบ้าน
– ผู้แสดงทางวัฒนธรรมและผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการวางแผนเนื้อหา รูปแบบ และการนำเสนออย่างภาคภูมิใจ
7.2  การรักษาวิถีชีวิตชุมชนคงไว้เป็นกิจวัตรปกติ
– มีการดำเนินวิถีชีวิตที่เป็นปกติ เช่น การตักบาตร การทำบุญที่วัด การไหว้ศาลปู่ตา เป็นต้น ไม่ควรเปลี่ยนหรือจัดทำใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว

มาตรฐานที่ 8  ด้านการสร้างคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์
8.1  ผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อเป็นของที่ระลึก/ของฝากหรือจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว
– มีผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือชุมชนสามารถนำมาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวได้ ทั้งเป็นของบริโภค สิ่งประดิษฐ์ เสื้อผ้า สิ่งทอ ของที่ระลึก โดยใช้วัสดุและวัตถุดิบท้องถิ่นเป็นหลัก
8.2  ผลิตภัณฑ์ที่สร้างคุณค่าและมูลค่าที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
– มีการนำเอาความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน พร้อมกันนั้นก็สามารถ จัดทำเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ เช่น การสอนทอผ้า การจักสาน การละเล่นต่าง ๆ และการแสดงพื้นบ้าน

มาตรฐานที่ 9  ด้านการบริหารของกลุ่มโฮมสเตย์
9.1  การรวมกลุ่มของชาวบ้าน
– การบริหารจัดการต้องเป็นการรวมกลุ่มโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สมาชิกกลุ่ม และชุมชน ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ แนวคิด หลักการ วัตถุประสงค์ และวิธีการของโฮมสเตย์
9.2  คณะกรรมการกลุ่มโฮมสเตย์
– มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารงาน ได้แก่ ประธาน รองประธาน เหรัญญิก และกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน
– คณะกรรมการทุกคนต้องมีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาหลักการ ขั้นตอน วิธีการทำงานของโฮมสเตย์ ตามบทบาทหน้าที่ที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย
9.3  กฎ กติกา การทำงานของคณะกรรมการ
– มีกฎ กติกา วาระการทำงาน การทำงานร่วมกันของคณะกรรมการ เช่น การจัดประชุมอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะรับนักท่องเที่ยว และหลังรับนักท่องเที่ยวหรือจัดประชุมประจำเดือน
– มีการจัดสรรเงินรายได้เข้าส่วนกลางของชุมชนเพื่อสาธารณะประโยชน์ของชุมชน
– มีแนวทางในการทำงานของคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
1. มีหลักเกณฑ์การเปิดรับสมาชิกโฮมสเตย์
2. มีการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว
3. มีรายละเอียดกิจกรรมการท่องเที่ยว การให้บริการ และราคา
4. มีแนวปฏิบัติในการจองบ้านพัก และการชำระเงินล่วงหน้า
– มีแนวปฏิบัติของกลุ่ม เช่น การต้อนรับร่วมกัน การให้ข้อมูล การจัดลำดับกิจกรรม การดูแลความปลอดภัย การติดตาม และประเมินผล เป็นต้น
9.4  มีการจ่ายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
– มีแนวปฏิบัติหมุนเวียนการให้บริการ เช่น บ้าน รถ เรือ มัคคุเทศก์ เป็นต้น
– มีระบบการคิดราคาที่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม
– มีการจัดสรรรายได้เข้ากองทุนชุมชน
9.5  ระบบการจองการลงทะเบียนและการมัดจำล่วงหน้า
– มีระบบการจองล่วงหน้า
– มีการลงทะเบียนนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมการและให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
– มีการชำระเงินล่วงหน้า ในอัตราส่วนที่ทางกลุ่มเป็นผู้กำหนด
9.6  รายละเอียดของค่าธรรมเนียมและบริการต่าง ๆ ที่ชัดเจน และเป็นปัจจุบัน
– มีการระบุค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่าง ๆ ที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบันไว้ในข้อมูลการประชาสัมพันธ์ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่านำเที่ยว ซึ่งอาจจะคิดเป็นรายคนหรือคิดในลักษณะเหมาจ่าย เป็นต้น

มาตรฐานที่ 10 ด้านประชาสัมพันธ์
10.1  เอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของชุมชน
– มีคู่มือ แผ่นพับ แผนที่การเดินทาง โปรแกรมการท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว ราคาและสถานที่ติดต่อ
10.2  แผนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
– มีเป้าหมาย แผนงาน การเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

แนวทางการพัฒนาโฮมสเตย์ไทย
 ข้อพิจารณาในการพัฒนาโฮมสเตย์ไทย
1) วิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบท
2) วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
3) ความปลอดภัย
4) ความสะอาด
5) ห้องพักพร้อมอาหาร
6) กิจกรรมทางการท่องเที่ยว

การจัดการ (Management)
การจัดกิจกรรมที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท ควรที่จะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งในรูปของกลุ่ม/ชมรม/สหกรณ์ ซึ่งสมาชิกและคนใจชุมชนจะต้องมีความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในด้านการจัดการ

บ้านพัก (Accommodation)
แบบที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว (Provision of Accommodation for Tourist)
1) ความเต็มใจของสมาชิกในครอบครัวต่อการรับผู้มาเยือน
2) บ้านพักมีโครงสร้างที่ดี
3) ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี
4) ไม่ไกลจากเมืองหรือพื้นที่เทศกาลหรือสถานที่ท่องเที่ยว
5) ควรมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐาน อาทิ
– ที่นอน หรือเตียงนอน
– หมอน
– น้ำประปาหรือถ้าไม่มีควรมีแหล่งน้ำอื่น ๆ
– ห้องน้ำสะอาด
6)  มีความปลอดภัย

ขั้นตอนการดูแลที่พัก (Home Keeping Produce)
ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้ดูแลควรมีการทำความสะอาดที่พักและบริเวณโดยรอบบ้านพักอยู่เสมอ อาทิ เปลี่ยนผ้าปูที่นอน อุปกรณ์สำหรับการนอนส่วนตัวทุกครั้งเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าพัก เป็นต้น

ความสะอาดของบ้าน
1)  บ้านพักควรมีอากาศที่สามารถถ่ายเทได้สะดวก แสงสว่างสามารถส่องเข้ามาถึงปราศจากความชื้นไม่มีกลิ่นอับ มีหลังคาที่สามารถกันน้ำได้ดี ภายในห้องพักต้องได้รับการทำความสะอาดเป็นประจำ
2) ต้องเปลี่ยนผ้าปูที่นอน และอุปกรณ์ส่วนตัวสำหรับผู้มาเยือนทุกครั้งหรือมีผู้มาเยือนใหม่เข้ามาพัก
3) ต้องหมั่นกำจัดแมลงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่เสมอ
4) เนื่องจากห้องน้ำจะเป็นห้องที่ผู้มาเยือนจะมาร่วมใช้ด้วย ดังนั้นต้องเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดส่วนตัวสำหรับผู้มาเยือน (กรณีที่แขกมิได้มีการเตรียมมา) และจะต้องมีการทำความสะอาดเป็นประจำ
5) ต้องหมั่นดูแลสภาพแวดล้อมของบ้านพักอยู่เสมอ

ห้องน้ำ (The Bathroom)
ห้องน้ำจะเป็นที่ ๆ ใช้ร่วมกันทั้งครอบครัวและนักท่องเที่ยว สิ่งสำคัญก็คือ ความสะอาด จะต้องมีการทำความสะอาดอยู่เป็นประจำและสม่ำเสมอ

ความปลอดภัย
ความปลอดภัยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่นักท่องเที่ยวใช้เป็นองค์ ประกอบในการตัดสินใจเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมที่พักเชิงวัฒนธรรมลักษณะสัมผัส ชนบท ดังนั้น ชมรม/กลุ่ม มวลสมาชิก ควรมีการจัดมาตรการรักษาความปลอดภัย สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น เช่น การจัดอบรมให้กับสมาชิกของชุมชนในการให้การป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ หรือการแก้ไขหากเกิดอุบัติเหตุ การขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือองค์การบริหารท้องถิ่นที่รับผิดชอบในพื้นที่ การจัดตั้งเวรยามของชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้เจ้าของบ้านจึงจะต้องมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและ ทรัพย์สินของผู้มาเยือนด้วย

ทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
1) ต้องมีการดูแลและซ่อมแซมล็อคต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา อาทิ ประตู หน้าต่าง
2) ถ้าเห็นนักท่องเที่ยวไม่เก็บทรัพย์สินไว้ในที่ที่ปลอดภัย ต้องเข้าไปเตือน
3) ถ้านักท่องเที่ยวลืมทรัพย์สินไว้ในบ้านพักหรือที่อื่น ๆ ภายหลังการเดินทางกลับ เจ้าของบ้านควรเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยและพยายามติดต่อเจ้าของเพื่อมารับคืน

ความปลอดภัยของที่พัก
1) สมาชิกในบ้านต้องสร้างความคุ้นเคยกับผู้มาเยือน เสมือนญาติสนิท และมีความรู้เรื่องสถานที่ในบ้านและชุมชนเป็นอย่างดี
2) สมาชิกในบ้านต้องหมั่นตรวจตรา ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยภายในบ้าน
3) กุญแจที่สำคัญต้องได้รับการเก็บรักษาและดูแลเป็นอย่าดี
4) ทรัพย์สิน เงินสดต่างๆ ต้องเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย
5) สมาชิกทุกคนต้องคำนึงถึงเรื่องความสำคัญของความปลอดภัยตลอดเวลา

การกำหนดระเบียบและข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว
วัฒนธรรม จารีต ประเพณี และความเชื่อ ของแต่ละชุมชนอาจแตกต่างกัน การกำหนดระเบียบและข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ การแต่งกาย การนอน การกำหนดเวลาการเข้าออกบ้านพัก จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาที่ขัดต่อวัฒนธรรม จารีต ประเพณีและความเชื่อของชุมชน โดยนักท่องเที่ยวจะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม ทั้งนี้ควรมีการชี้แจงในขั้นตอนการจองหรือลงทะเบียนการเข้าพัก กรณีที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็สามารถที่จะปฏิเสธการเข้าพักได้เช่นเดียวกัน

การต้อนรับ (Reception)
คนไทยเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังสำนวนสุภาษิตไทยที่ว่า “เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” การต้อนรับนักท่องเที่ยวดุจญาติมิตรจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึก อบอุ่น ควรมีการจัดพื้นที่ต้อนรับในลักษณะจุดศูนย์กลางของชุมชนเพื่อทำการต้อนรับ ลงทะเบียนการเข้าพัก หรือการให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว โดยการต้อนรับอาจให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรมประจำถิ่น เช่น ภาคอีสาน/เหนือ ต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ หรืออาจจะเป็นช่อดอกไม้ พวงมาลัยเล็ก ๆ ที่สามารถหาได้จากท้องถิ่นมอบให้กับนักท่องเที่ยว ก็จะเป็นการสร้างความประทับใจได้เมื่อเริ่มเข้าสู่ชุมชน

การจองที่พัก (Reservation)
การจองที่พักสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การจองทางไปรษณีย์ การจองทางโทรศัพท์ การจองผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การจองที่พักควรได้รับการตอบสนองโดยทันที เพื่อเป็นการยืนยันการเข้าพักของนักท่องเที่ยว และถ้ามีเวลา ผู้ประสานงานควรจะส่งรายละเอียดให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อศึกษาก่อนการเข้า พัก ทั้งนี้ควรแจ้งข้อมูลรายละเอียด ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานในประเทศที่รับผิดชอบพื้นที่ ได้รับทราบเพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไปรับทราบได้

ขั้นตอนการจองห้องพัก มีดังนี้
1) จัดบ้านพักตามลำดับ
2) ตอบ รับการจอง อาจจะมีการใช้ระบบการเรียกเก็บค่าบริการบางส่วน เพื่อเป็นการป้องกันการไม่เข้าพักของนักท่องเที่ยวตามกำหนดเวลา ดังนั้นควรชี้แจงระยะการยกเลิกเข้าพักให้กับนักท่องเที่ยวได้รับทราบด้วย
3) เก็บรักษาข้อมูลการจองสำหรับการลงทะเบียนเข้าพักต่อไป

การลงทะเบียน (Registration)
ใน ธุรกิจโรงแรมที่พัก ผู้เข้าพักต้องลงทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานและอ้างอิงในอนาคต ส่วนในลักษณะที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท การลงทะเบียนอาจไม่ต้องเป็นรูปแบบเหมือนธุรกิจโรงแรม แต่ควรเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบง่ายๆ
ความสำคัญของการลงทะเบียน
– ทำให้เจ้าของบ้านทราบข้อมูลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว
– ช่วยในการจัดเตรียมบ้านพัก
– ทำให้ทราบวันออกจากที่พักของนักท่องเที่ยวแต่ละคน ข้อมูลนี้มีความจำเป็นเพราะจะทำให้ กลุ่ม/ชมรม สามารถวางแผนการเข้าพักของแขกในลำดับต่อ ๆ ไปได้
– เป็นข้อมูลการเข้าพักให้ผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้ประพฤติมิชอบหรือการหลบซ่อนของอาชญากรได้
ขั้นตอนการต้อนรับและลงทะเบียน
– ต้อนรับด้วยรอยยิ้มดุจญาติมิตร แจ้งรายละเอียดค่าธรรมเนียมการเข้าพักและบริการต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวทราบ
– ให้นักท่องเที่ยวกรอกรายละเอียดและลงชื่อในใบลงทะเบียนการเข้าพัก
– แจ้งรายละเอียดที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับข้อมูลของชุมชนและสภาพทั่วไป
– นำนักท่องเที่ยวไปยังบ้านพัก

การบริการอาหาร
เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องพักกับเจ้าของบ้าน อาหารมื้อใดมื้อหนึ่งจึงมีความจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยว การนำเสนอรายการอาหารท้องถิ่นจึงเป็นเสน่ห์และทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความ ประทับใจ มากกว่าการนำเสนอรายการอาหารเช่นเดียวกับโรงแรมหรือรีสอร์ท ดังนั้นการวางแผนจัดเตรียมอาหารจึงมีความจำเป็นเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด ระหว่างปริมาณอาหารและจำนวนนักท่องเที่ยว

การวางแผนจัดเตรียมอาหารจึงจำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยหลาย ๆ ประการ ได้แก่
– ข้อมูลของนักท่องเที่ยว เช่น เชื้อชาติ ศาสนา
– งบประมาณในการจัดทำอาหาร
– ปัจจัยด้านฤดูกาล
– อาหารประจำท้องถิ่น
– จำนวนนักท่องเที่ยว


Blog Stats

  • 333,324 hits